covidzaa.com
Menu

ช่วงวัยและอาหารที่เหมาะสม

    “อาหาร” มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้มีภูมิต้านทานและความแข็งแรง ซึ่งแต่ละช่วงอายุหรือวัยมีความต้องการสารอาหารไม่เหมือนกัน บางช่วงวัยต้องการอาหารที่เหมาะสมสำหรับนำไปส่งเสริมพัฒนาทางด้านร่างกายให้เจริญเติบโตและแข็งแรง บางช่วงวัยต้องการชนิดอาหารที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ หรือบางช่วงวัยต้องจำกัดชนิดอาหารตามสภาพร่างกายหรือโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 6 ช่วงอายุและวัยดังนี้


    วัยทารก (แรกเกิด – 6 เดือน)
อาหารที่ดีที่สุดสำหรับวัยนี้คือ “นมแม่” เพราะมีสารอาหารที่ทารกต้องการอย่างครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมใด ๆ เลย แต่เมื่ออายุครบ 6 เดือนขึ้นไป จะเข้าสู่ช่วงที่เริ่มหย่านม ควรให้อาหารบดทีละชนิดเพื่อให้ทารกรู้จักการบดเคี้ยว และที่สำคัญเป็นช่วงการติดตามดูอาการแพ้ของอาหารแต่ละชนิดโดยไม่ต้องเติมเกลือ น้ำตาลหรือสารปรุงรสชนิดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เด็กติดรสหวานหรือเค็ม และในช่วงนี้ยังสามารถให้นมแม่ควบคู่ไปกับอาหารชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย


    วัยเด็ก (ก่อนวัยเรียน อายุ 1 – 5 ปี)
เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรับประทานอาหารได้ในครั้งละมาก ๆ ดังนั้นควรแบ่งหรือป้อนเป็นมื้อเล็ก ๆ ร่วมกับของว่างที่มีประโยชน์เพื่อเสริมพัฒนาการทางการร่างกายและสติปัญญา และควรฝึกให้เด็กรับประทานผักด้วยการเลือกผักที่มีสีสันแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมลงไปในอาหาร รวมถึงฝึกให้หยิบจับอาหารด้วยตนเอง


    เด็กวัยเรียน (อายุ 6 – 12 ปี)
วัยนี้เป็นวัยที่ควรส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับอาหารเช้า และอาหารมื้ออื่น ๆ ที่ควรมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ควรได้รับสารอาหารกลุ่มโปรตีนและแคลเซียมที่ได้จากนม เพื่อนำไปช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต กระดูกและฟัน รวมทั้งให้พลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งนมที่เด็กวัยนี้ควรได้รับคือ นมจืด


    วัยรุ่น
วัยนี้มีความต้องการสารอาหารที่มีพลังงานสูง แต่ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน วัยนี้มักจะให้ความสำคัญกับรูปร่างและสัดส่วนของร่างกาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอและถูกสัดส่วน รวมถึงต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนวิธีการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักเป็นวิธีที่ไม่ควรทำ

    วัยผู้ใหญ่
เป็นวัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น อาหารจึงควรเลือกประเภทที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวหรืออาหารประเภทแป้งที่มีผ่านกระบวนการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลต์วีต และธัญพืชต่าง ๆ ผักและผลไม้ รวมถึงอาหารประเภทโปรตีนที่พอประมาณเช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ นอกจากอาหารแล้วยังรวมถึงการออกกำลังกายและการควบคุมน้ำหนักให้มีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับส่วนสูง


    วัยผู้สูงอายุ
วัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมสภาพ รวมถึงระบบประสิทธิภาพในร่างกายก็เสื่อมถอยเช่นกัน ดังนั้นอาหารที่ควรรับประทาน ต้องเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนที่ได้จากไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ รวมถึงการเสริมสร้างกระดูกด้วยผลิตภัณฑ์จากนม งาดำ เต้าหู้ ผักใบเขียวเข้ม และกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย

โพสต์โดย : solo solo เมื่อ 31 พ.ค. 2567 03:07:12 น. อ่าน 30 ตอบ 0

facebook