covidzaa.com
Menu

ลักษณะอาหารในโรงพยาบาล

   อาหารทั่วไปในโรงพยาบาล จัดบริการให้กับผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลจะกำหนดมาตรฐาน คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ โดยจัดอาหารตามความต้องการพลังงานและสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน โดยกำหนดจากค่า RDA (Recommend daily Allowances)   โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลรับประทานอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ  เหมาะสมกับโรคถูกต้องตามคำสั่งแพทย์  อาหารทั่วไปมีลักษณะแตกต่างกันและสามารถแบ่งตามลักษณะของอาหาร  ดังนี้
 - อาหารอ่อน (Soft diet)
 - อาหารน้ำใส (Clear liquid diet)
 - อาหารน้ำข้น (Full liquid diet)
   
   อาหารธรรมดา (Regular diet)  มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาหารที่คนปกติที่ไม่ได้เจ็บป่วยรับประทานอยู่ทั่วๆไป  เพียงแต่งดอาหารที่ย่อยยาก  อาหารหมักดอง  อาหารรสจัด  อาหารทอดที่อมน้ำมัน  อาหารที่มีใยแข็งและย่อยยาก  อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารดัดแปลงเพื่อการรักษาโรค หรือ  อาหารเฉพาะโรค
   ตัวอย่างอาหารธรรมดา
- มื้อเช้า: ข้าวต้มปลา ไข่ลวก  นมถั่วเหลือง
- มื้อเที่ยง: ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมู กล้วยบวชชี
- มื้อเย็น: ข้าวสวย แกงจืดเต้าหู้ ผัดพริกขิงหมู ผลไม้

   อาหารอ่อน (Soft diet)  มีลักษณะเปื่อย นุ่ม รับประทานง่าย  ย่อยง่าย  โดยนำอาหารที่แข็งและย่อยยากมาดัดแปลงทำให้นุ่ม  เช่น  สับละเอียด  ต้มหรือตุ๋นจนเปื่อยนุ่ม  ไม่ระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหาร  หลีกเลี่ยงอาหารทอดเหนียว ไขมันสูง  อาหารชนิดนี้เป็นอาหารที่จัดให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร  ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการพักฟื้น  มีคุณค่าอาหารไม่แตกต่างจากอาหารธรรมดา  แต่ในทางปฏิบัติเมื่อจัดอาหารอ่อน  ปริมาณจะมากกว่าอาหารธรรมดาที่ให้พลังงานเท่ากัน  ดังนั้นจึงกำหนดมาตรฐานอาหารไว้ที่พลังงาน  1,500 – 1,800  กิโลแคลอรี่/วัน
   ตัวอย่างอาหารอ่อน
- มื้อเช้า: โจ๊กหมู ไข่ลวก นมสด
- มื้อเที่ยง: ก๋วยเตี๋ยวน้ำหมูสับ  น้ำผลไม้ (ที่ไม่มีกากใย)
- มื้อเย็น: ข้าวต้ม  ปลานิ่ง ผัดฟักทองใส่ไข่  ผลไม้

   อาหารน้ำใส (Clear liquid diet) มีลักษณะเป็นน้ำเหลวใส  ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผัก  จึงประกอบด้วยน้ำและคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่  ไม่มีตะกอน หรือใยอาหารเหลืออยู่  ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร  อาหารชนิดนี้มีคุณค่าอาหารต่ำไม่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย  จึงจำกัดการใช้เพียง 1 – 2 มื้อเท่านั้น  ถ้าให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นเวลานาน  ทำให้เกิดปัญหาขาดพลังงานและสารอาหารได้
   ตัวอย่างอาหารน้ำใส
- มื้อเช้า: น้ำข้าวกรอง  น้ำหวาน
- มื้อเที่ยง: น้ำซุปใส (ไก่)  น้ำขิง
- มื้อเย็น: น้ำซุปใส (ผัก)  น้ำผลไม้กรอง

   อาหารน้ำข้น (Full liquid diet)  ลักษณะอาหารจะข้นมากกว่าอาหารน้ำใส  สามารถผสมนม ธัญพืช  เนื้อสัตว์ครูด ไข่ หรือผัก ผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มคุณค่าอาหารให้สูงขึ้น  แต่คุณค่าสารอาหารและพลังงานก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย  อาหารชนิดนี้แพทย์สั่งให้กับผู้ป่วยในระยะสั้น  เช่นเดียวกับอาหารน้ำใส
   ตัวอย่างอาหารน้ำข้น
- มื้อเช้า: น้ำข้าวข้น  นมถั่วเหลือง
- มื้อเที่ยง: ครีมซุปไก่  ไอศครีม
- มื้อเย็น: ครีมซุปมันฝรั่ง  นมสด

โพสต์โดย : solo solo เมื่อ 22 ก.พ. 2567 07:41:11 น. อ่าน 48 ตอบ 0

facebook