covidzaa.com
Menu

3 วิธีลดอาการหัวร้อน โกรธง่าย


"เจอเรื่องหงุดหงิด ใช้ชีวิตอย่าหัวร้อน"

การใช้ชีวิตทุกวันนี้ ต้องบอกเลยว่าไม่แกร่งจริงอยู่ไม่ได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะเราต้องรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ภายนอกที่มากระทบกระทั่ง สั่นสะเทือนให้ความรู้สึก และอารมณ์ของเราหวั่นไหว แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็น ตื่นสาย ฝนตก รถติด เข้างานช้า งานเยอะ เพื่อร่วมงานก็เรื่องเยอะ เจ้านายยิ่งเยอะกว่า

หรือต่อให้คุณผู้อ่านใช้ชีวิตอยู่บ้าน ตั้งใจว่าจะนอนชิวๆ แต่เชื่อเถอะมันจะมีเหตุปัจจัยที่มาขัดขวางความชิวของเราได้อยู่เสมอ เช่น ไฟดับ น้ำไม่ไหล เพื่อนบ้านเสียงดัง เป็นต้น แล้วพอเจอเรื่องชวนหงุดหงิดเช่นนี้บ่อยครั้งเข้า จากที่ใจเย็นๆ ยิ้มแย้ม ความร้อยระอุก็เริ่มประทุที่ศีรษะ กลายเป็นคนหัวร้อน โกรธง่าย โมโหง่าย ขึ้นมาทันที

หากคุณผู้อ่านเป็นผู้ที่หัวร้อนในระดับธรรมดา คือ นานๆทีจะหัวร้อนสักครั้ง ก็คงไม่มีผลเสียอะไร แต่หากหัวร้อนเป็นกิจวัตร หัวร้อนจนเป็นปกติธรรมดาของชีวิต หากเป็นเช่นนั้นคงไม่ดีแน่ เพราะความหัวร้อนจะทำให้ชีวิตของเราเดือนร้อนไปด้วย ดังนี้

1. อาการหัวร้อน ส่งผลให้คุณโง่ลง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัย OHIO ได้กล่าวไว้ว่า “ความโกรธและความเครียดส่งผลให้เส้นเลือดในสมองโป่งพอง ทำให้สมองทำงานได้ช้าลง” จากคำกล่าวนี้ จึงไม่น่า แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาคนเราโมโห หงุดหงิด จะมองไม่เห็นทางออกของปัญหา มีความสามารถในการใช้เหตุผลน้อยลง ใช้อารมณ์เป็นหลัก มักจะพูดก่อนคิด ทำโดยขาดการไตร่ตรอง ซึ่งนำไปสู่เหตุทะเลาะวิวาทในที่สุด

2. อาการหัวร้อน ส่งผลให้คุณใจร้อนไปด้วย ใจร้อน ณ ที่นี้ ผู้เขียนหมายถึง อุณหภูมิหัวใจที่สูงขึ้นตรงๆตัวเลย โดยChris Aiken จิตแพทย์ชื่อดังจาก Wake Forest University School of Medicine ได้ให้ข้อมูลว่า “หลังจากที่คนเรามีอาการโมโห ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น หัวใจของผู้นั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจวายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า อีกทั้งความโกรธที่ไม่ได้รับการระบายออก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ” นั้นหมายความว่า ยิ่งหัวร้อนมากเท่าไหร่ สุขภาพของคุณยิ่งถูกทำร้ายมากขึ้นเท่านั้น

3. อาการหัวร้อน ตัวบ่อนทำลายมิตรภาพ ในข้อนี้ ขอให้คุณผู้อ่านคิดถึงตอนที่อยู่ๆก็โดนเพื่อน เพื่อนสนิท คนในบ้าน คนในครอบครัว เหวี่ยงใส่ วีนใส่ หรือแสดงความโกรธจนเกินที่จะรับได้ แน่นอนเลยว่าความสัมพันธ์ที่เคยมีจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การหัวร้อนใส่กันก็เหมือนการกระแทกแก้วน้ำ คือ ถึงแก้วไม่แตก แต่ก็จะมีรอบร้าว และหาก ถูกกระแทกบ่อยๆ แก้วก็จะร้าวมากขึ้นๆ จนแตกในที่สุด เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะหัวร้อนใส่ใคร โปรดคิดถึงความสำคัญของคนๆนั้นสักนิด ก่อนที่เราจะเผลอระเบิดอารมณ์และเสียเขาไปตลอดกาล

มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงมองเห็นแล้วว่าอาการหัวร้อนนั้นมีข้อเสียอย่างไร แล้วทำอย่างไรที่เราจะลดอาการหัวร้อน หรือระงับอาการหัวร้อนไม่ให้เกิดขึ้น ผู้เขียนมีแนวทางมานำเสนอวิธีเอาชนะความหัวร้อน ดังนี้

1. นับเลขวนไป วิธีนี้เป็นวิธีสากลที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ใหญ่คอยบอกเราๆมาโดยตลอด จริงเป็นกุศโลบายที่ดีในการให้เรามีสตินึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้า – ออก เหมือนการทำสมาธิ โดยระหว่างที่นับ 1 ให้หายใจเข้าช้าๆ นับ 2 หายใจออกช้าๆ และทำเช่นนนี้เรื่อยๆจนรู้สึกใจเย็นลง คุณผู้อ่านก็จะสามารถควบคุมอาการหัวร้อนได้ในที่สุด

2. พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ ข้อแนะนำนี้ ไม่ใช่ว่าให้คุณผู้อ่านหนีจากปัญหา เพียงแต่ขอให้คุณผู้อ่านมีเวลาพักรบจากความหัวร้อนก่อนที่สถานการณ์ตึงเครียดจะบานปลาย หากสถานการณ์กดดันเกิดระหว่างเข้าประชุม คุณผู้อ่านก็อาจใช้วิธีขอตัวมาเข้าห้องน้ำ แล้วออกมาสงบสติอารมณ์ เมื่อใจสงบพอแล้วจึงเข้าไปเผชิญสถานการณ์ใหม่ หรือ หากเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น รถเฉี่ยวชน ถูกด่าทอในที่สาธารณะ คุณผู้อ่านอาจใช้วิธีหาคนกลางในการไกลเกลี่ย เช่น โทรแจ้งประกัน โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นคนกลางในการพูดคุยกับคู่กรณี ซึ่งระยะเวลาระหว่างรอคนกลางนั้นผู้อ่านอาจถูกคู่กรณียั่วยุอารมณ์ด้วยวิธีต่างๆ ก็ขอให้สงบไว้ และตอบเพียงว่าเดี๋ยวให้คนกลางมาเคลียร์

3. คิดถึงคนที่เรารัก เมื่อคุณผู้อ่านต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประหนึ่งสงครามกลางเมือง เช่น เพื่อนร่วมงานชวนทะเลาะ ถูกเจ้านายตำหนิ ทะเลาะกับคนในครอบครัว วิธีการหนึ่งที่ช่วยควบคุมอารมณ์ของเราได้ ก็คือ การดูรูปคนที่เรารัก ไม่ว่าจะรูปลูก รูปแฟน รูปสามี รูปคุณพ่อ คุณแม่ ขอแค่ไม่ใช่รูปของคนที่คุณผู้อ่านกำลังหัวร้อนอยู่เป็นอันโอเคหมด การที่เราคิดถึงคนที่เรารักในสถานการณ์ดังที่กล่าวมา จะทำให้เราสงบขึ้น คิดช้าลง ทำช้าลง และแน่นอนว่าจะคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความหัวร้อนมากขึ้น


โพสต์โดย : เจ้าหนู เจ้าหนู เมื่อ 16 พ.ย. 2566 06:23:02 น. อ่าน 63 ตอบ 0

facebook